Loading...
ความเป็นมา

แรงบันดาลใจ "บ้านโกดังเตี่ย"

     แรงบันดาลใจ (บ้านโกดังเตี่ย THE GRAZIE) ทายาทรุ่นที่หนึ่ง รับมรดกโกดังตากข้าวโพดจากเตี่ย ในปีพ.ศ. 2534 ซึ่งในตอนนั้นทายาทเพิ่งจะจบแพทย์มาใหม่ๆ ยังมีความสุขกับการทำงานด้านการแพทย์ จึงไม่ได้สนใจ ปล่อยให้โกดังนี้ทิ้งร้างมากว่า 30 ปี จนกระทั่งทายาทมีอายุวัยเกษียณจึง ได้มีเวลามาดู พบว่ามีป่าหญ้าขึ้นเต็มพื้นที่แทบมองไม่เห็นโกดัง(มีรูปประกอบ)จึงได้ระดมพนักงานในคลินิกจำนวน 23 คนมาพักผ่อนที่เขาใหญ่ แล้วถือโอกาสให้พนักงานถางหญ้าทั้งหมดออกจึงพบว่าด้านหลังสุดของที่ดินแปลงนี้ซึ่งมีเนื้อที่ 200 ตรว. มีโกดังเก็บของและลานหน้าโกดังเป็นปูนซีเมนต์ (ในอดีตใช้เป็นลานตากข้าวโพด) ซึ่งลานตากข้าวโพดนี้ มีโครงสร้างโดยใช้ไม้ไผ่แทนเหล็กเส้น (สมัยก่อนเหล็กเส้นมีราคาแพงจึงนิยมใช้ไม้ไผ่เป็นตัวเสริมแรง) ลานตากข้าวโพดนี้ยังอยู่ในสภาพที่ดี เมื่อเอาต้นไม้และป่าหญ้า ออกไปแล้ว ความคิดในแว๊บแรกของทายาท คือ รื้อโกดังทั้งหมดและจะสร้างอพาร์ตเมนต์ให้เช่า หรือสร้างทาวน์เฮ้าขายได้ซัก 4 ห้อง

     แต่เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างของโกดัง ไม้ที่ทำโกดังยังมีในสภาพดี และะพบว่าเป็นไม้เนื้อแข็งที่ปลวกไม่กินแล้ว ส่วนที่ปลวกกินก็ผุพังไปหมดแล้ว มีเสาไม้ขนาดใหญ่ขนาด 8 นิ้ว X 8 นิ้วสภาพดีทุกต้น ไม้แปร ไม้ฝา ไม้ตง ก็มีความแข็งแรง และสมบูรณ์ยังทรงคุณค่าของความเป็นไม้ที่ปัจจุบันจะหาซื้อไม่ได้อีกแล้ว(จนมีชาวบ้านมาขอซื้อไม้ดังกล่าว) แต่ด้วยทายาทเป็นคนชอบอนุรักษ์และเสียดายของ(ของส่วนใหญ่ของทายาทจะเก็บไว้มิได้ขาย ทายาทเป็นคนชอบกำจัดขยะและดัดแปลงสิ่งของเหลือใช้ นำมาประยุกต์เพื่อเป็นประโยชน์อยู่เสมอ) เมื่อทายาทได้คิดพิจารณาแล้วว่า ถ้าขายไม้โครงสร้างนี้ไปก็คงจะได้เงินไม่เท่าไหร่ ประกอบกับทายาทเป็นคนที่ชอบลงมือทำอะไรด้วยตัวเองเสมอมาตลอดชีวิต

     จึงเกิดข้อเปรียบเทียบคือ ข้อ1) ถ้าสร้างอพาร์ตเมนต์หรือทาวน์เฮาส์จะเป็นงานใหญ่ที่จะต้องมีผู้เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากเสียเวลาในการก่อสร้างยาวนาน ทายาทต้องเหนื่อยมาคุมงานทั้งที่ตัวเองมีอายุมากแล้วและรายได้ก็ไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญในชีวิตอีกแล้ว ข้อ2) โครงสร้างของโกดังที่ยังเหลืออยู่ยังอยู่ในสภาพที่พอจะบูรณะต่อได้ใช้แรงงานไม่เยอะใช้เวลาไม่มากไม่ต้องอาศัยแรงงานจากภายนอกแค่ใช้ช่างในคลินิก เดินทางจากกรุงเทพมาปากช่องในช่วงเวลาที่มาปรับปรุงเท่านั้น สรุปคือ

     ใช้แรงงานของคลินิกทำเอง ซื้อวัสดุก่อสร้างเอง ออกแบบเอง ควบคุม ดูแลเองทุกอย่าง ประกอบกับมีวัสดุก่อสร้างเหลือใช้ ที่เหลือจากการสร้างบ้านที่เก็บไว้เป็นเวลานานแล้วก็จะมีโอกาสนำมาใช้ก็คราวนี้ เมื่อคิดเปรียบเทียบจากสองข้อดังกล่าวอย่างถ้วนถี่แล้ว ทายาทจึงตัดสินใจที่จะเลือกข้อ 2 โดยไม่ลังเล โดยตั้งใจจะทำเป็นบ้านพักตากอากาศ เนื่องจากอยู่ใกล้เขาใหญ่อากาศดีมาก ทายาทจึงได้สั่งให้ลูกน้องในคลินิกเดินทางมาปากช่องด้วยรถตู้หนึ่งคันรถปิ๊กอัพหนึ่งคัน จำนวนลูกน้องประมาณ 8 ถึง 10 คนทุกครั้ง เดินทางมาเพื่อรื้อและตัดหญ้าคราวละสามสี่วัน โดยทายาทได้ร่วมเดินทางมาด้วยทุกครั้ง

     โดยเริ่มต้นการก่อสร้างเมื่อเดือน มกราคม พ.ศ. 2567 ด้วยการรื้อหลังคาสังกะสีออกและสั่งทำใหม่โดยใช้เมททัลชีท เมื่อได้หลังคากันแดดกันฝนแล้ว เวลาทำงานต่อไปจะได้ไม่ร้อน ไม่ต้องตากแดด ตากฝน ในตอนแรกๆ ห้องน้ำยังไม่มีทายาทต้องอาศัยไปเช่าโรงแรมแถวนั้นเพื่ออาศัยห้องอาบน้ำ ต่อมาจึงเริ่มออกแบบในใจไว้ก่อน และเริ่มทำตามขั้นตอน โดยการขอไฟชั่วคราวและเจาะบ่อน้ำบาดาล และสร้างห้องน้ำห้องแรกให้เสร็จเร็วที่สุดจากนั้น เมื่อมาคุมงานก่อสร้างก็จะมานอนที่โกดังที่ก่อสร้างนี้เลยโดยการเต็นท์นอนทุกครั้งที่มาทำงาน

     ในส่วนของการออกแบบ เนื่องจากโกดังมีความสูงประมาณ 5 ถึง 6 เมตร จึงคิดทำเป็นบ้านพักสองชั้นในบางส่วนและบางส่วนคงอนุรักษ์ความเป็นโกดังไว้โดยตั้งใจว่าจะมีห้องพักสัก 4 ห้องเพื่อ ให้เพื่อนฝูงมานั่งชิลล์สังสรรค์กัน โดยมาค้างคืนได้ เพราะทายาทมีเพื่อนค่อนข้างเยอะโดยลานตากข้าวโพดหน้าบ้านเหมาะที่จะนั่งดื่มกินกันในเวลาแดดร่มลมตกเป็นอย่างมาก มีลมหนาวโชยมาตลอดเวลามิได้ขาด ในส่วนการทำงานก็ทำไปออกแบบไปคิดไปตามหน้างานและตามวัสดุก่อสร้างที่เหลืออยู่อันไหน ขาดก็สั่งซื้อจากกรุงเทพใส่รถปิ๊กอัพเดินทางมาด้วยทุกครั้ง (มักจะมีของเต็มรถ ทุกครั้งที่มาปากช่อง) เริ่มต้นก็ทำห้องนอน 4 ห้อง มีห้องนอนใหญ่ซึ่งนอนได้ 8 ถึง 10 คนและห้องนอนที่นอนได้ 2 ถึง 4 คน อีก3ห้อง มีลานทำครัว มีระเบียงชมวิวจิบกาแฟยามเช้า สร้างห้องน้ำสามห้องโดยผสมผสานความเก่าและใหม่ให้อยู่ในที่เดียวกัน วัสดุที่ใช้ก็เน้นราคาไม่แพง ฉะนั้นบ้านโกดังเตี่ยจึงไม่เน้นความหรูหราขอเป็นแค่ที่พักชิลล์ชิลล์ในราคาที่ไม่แพง ทายาทและลูกน้องใช้เวลา 7 เดือน ไป ๆ มา ๆ กรุงเทพ - ปากช่อง ในการก่อสร้างและตกแต่ง ให้เป็นบ้านพักตากอากาศในตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง สำหรับบุคคล หรือ คณะที่ต้องการความสงบมาพักผ่อนสังสรรค์ บ้านโกดังเตี่ยอยู่ใกล้เขาใหญ่ น้ำตกเหวสุวัฒน์ น้ำตกเหวนรก เขายายเที่ยง อ่างเก็บน้ำบนเขา กังหันลมยักษ์เพื่อผลิตไฟฟ้า โคราช อนุเสาวรีย์ย่าโม พิมาย หมวกเหล็ก ซึ่ง บ้านโกดังเตี่ยจะเปิดให้บุคคลภายนอกมาใช้บริการได้ในเดือน กันยายน 2567 เป็นต้นไป

อ่านต่อ
เกี่ยวกับเรา

ขอต้อนรับเข้าสู่ "บ้านโกดังเตี่ย"

     "เตี่ย" ในที่นี้หมายถึง นายเท่งปัง แซ่ลี้ ชายชาวจีนจากเมืองซัวเถาประเทศจีน ได้อพยพหนีระบบคอมมิวนิสต์มาทางเรือสำเภา มาลงท่าเรือปากคลองตลาด กรุงเทพฯ เมื่อ 100 กว่าปีก่อน มาทำมาหากินเหมือนชาวจีนอพยบที่มาอยู่เมืองไทยคนอื่นๆ รับจ้างทำทุกอย่างที่เป็นเงินด้วยความยากลำบากเท่าไหร่ไม่สน และเมื่ออายุ 20 ปีก็ได้แต่งงานกับสาวจีนที่เกิดในเมืองไทยพากันอาศัยอยู่แถวถนนเสือป่า ทำอาชีพเจียวน้ำมันหมูขายส่งในตลาดเก่าย่านเยาวราช

     ในปี พ.ศ. 2482 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงต้องอพยบครอบครัวหนีภัยสงคราม โดยลงเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นเหนื่อ ไปขึ้นที่ท่าน้ำปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์พร้อมบุตรชาย และบุตรหญิงคนโตในขณะนั้น ทำอาชีพขายของชำอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านตลาดตึกขาวอยู่นานสักระยะหนึ่ง พอเก็บหอมรอมริบเงินทองได้สักก้อนหนึ่ง

     ในปี พ.ศ. 2490 ได้ไปประมูลโรงยาฝิ่นได้ที่ท่าทรุด ตำบลเก้าเลี้ยว อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ขณะนั้นกิจการดำเนินไปได้ด้วยดี ฐานะเป็นปึกแผ่นมั่นคงยิ่งขึ้น เป็นเอเจ้นจำหน่ายสุราที่ตำบลเก้าเลี้ยวแห่งนี้ และได้ให้กำเกิดบุตร ชาย-หญิง อีก 5 คน

     ในปี พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้มีคำสั่งให้ยกเลิกโรงยาฝิ่นทั้งประเทศ โดยให้ถือว่ายาฝิ่นเป็นสิ่งผิดกฏหมายตั้งแต่นั้นมา ทำให้ครอบครัวต้องปิดกิจกาจโรงงานยาฝิ่น และย้ายถิ่นฐานอีกครั้งไปอยู่ที่เดิม คือ ตำบลปากน้ำโพ หรือ อำเภอเมืองจังหวัดนครสวรรค์ โดยคราวนี้มาเปิดกิจการผลิต และให้เช่าสามล้อถีบในเมืองปากน้ำโพ ซึ่งกิจการไม่ค่อยสู้ดีนัก

     ในปี พ.ศ. 2503 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยกเลิกการใช้สามล้อถีบในกรุงเทพ ทำให้จำนวน สามล้อถีบ ในกรุงเทพทะลักไปสู่ต่างจังหวัด ราคาสามล้อถีบที่ปากน้ำโพจึงมีราคาตกต่ำลงเป็นอย่างมากจึงทำให้ กิจการอู่สามล้อถีบของเตี่ยแย่ลง ประกอบกับบ้านถูกไฟไหม้ เตี่ยจึงต้องหาอาชีพเสิรม คือ การเร่ขายของ ตามต่างอำเภอ และต่างจังหวัด นาน ๆ จะได้กลับบ้านปากน้ำโพสักทีนึง

     ในปี พ.ศ. 2511 จึงได้ย้ายถิ่นฐานในการทำมาหากินอีกครั้งโดยย้ายครอบครัวไปอยู่กับบุตรชายคนโตซึ่งได้แยกตัวมาเปิดร้านขายวิทยุ นาฬิกาก่อนหน้านี้แล้วที่อำเภอปากช่องจังหวัดนครราชสีมาใน ชื่อร้าน "ปากช่องนาฬิกา" ร้านปากช่องนาฬิกานี้ สั่งอะไหล่จักรยานมาประกอบและขายเป็นคัน ซ่อมนาฬิกา ซ่อมวิทยุการ การค้าขายก็ดำเนินเรื่อยมา เป็นที่น่าสังเกตุคือบรรดาเจ้าของร้านค้าต่างๆ ในตลาดปากช่องไม่ว่าจะค้าขายอะไรก็มักจะมีอาชีพเสริมเป็นอาชีพที่ 2 นั่นคือ การมีไร่ การทำไร ค้าพืชไร่ หรือบางคนก็มีอาชีพทำไร่หรือค้าพืชไร่อย่างเดียว เตี่ย ก็เช่นเดียวกันมีความใฝ่ฝันอยากจะมีไร่และทำไร่กับคนอื่นเขาบ้าง

     ในปี พ.ศ. 2516 ได้ซื้อไร่จากช่างวิทยุในร้านจำนวน 100 ไร่ในราคาแค่ 60,000 บาท ตั้งอยู่ในซอยติดเขตอุทยานเขาเสียยดอ้า บนถนนธนะรัชต์ กิโลเมตรที่ 6 และได้ซื้อรถปิกอัพมือสองอีกหนึ่งคันเพื่อใช้กิจการในไร่โดยให้ลูกชายคนที่ 3 ดูแล ในเมื่อมีไร่แล้ว มีรถปิ๊กอัพแล้ว ก็ทำการปลูกข้าวโพดแล้ว ก็ทำงานเรื่อยมาโดยจ้างแรงงานคนในปากช่องไปถากลุ่นค่าแรงวันละ 10 บาท ต่อ คนในสมัยนั้น ทายาคนรองสุดท้ายซึ่งเรียนหนังสืออยู่กรุงเทพ เมื่อเวลาปิดเทอมก็ไปข่วยคุมงานถากลุ่นในไร่ข้าวโพดเป็นเวลาหลายปีอยู่ ข้าวโพดเป็นพืชไร่ที่นิยมปลูกกันมากในอำเภอปากช่องและใกล้เคียง

     แต่ในเมื่อ เก็บข้าวโพดได้แล้วนำไปขายก็จะไม่ได้ราคาเพราะข้าวโพดยังมีความชื้นสูง เถ้าแก่รายใหญ่ๆ ในปากช่องก็มักจะมีโกดัง และลานตากข้าวโพด รวมทั้งรับซื้อข้าวโพดเป็นของตัวเอง เพื่อจะได้ตากข้าวโพดให้แห้งลดความชื้นเป็นการเพิ่มราคา ซึ่งเถ้าแก่ส่วนใหญ่ในปากช่องก็จะมีลานตากข้าวโพดใหญ่โตมีเนื้อที่หลาย ๆ ไร่ เนื่องจากที่ดินมีราคาถูกมากในสมัยนั้น ด้วยความที่เตี่ยก็ไม่อยากถูกเอาเปรียบจากการไปตากข้าวโพดที่ลานคนอื่น แต่ตัวเองก็เพิ่งมาเริ่มทำงานนี้ ทุนก็ยังไม่มีจะไปกู้เงินเขามาทำลานตากข้าวโพดก็จะไม่ไหว ซึ่งเตี่ยมีที่ดินที่มีคนมาขายฝากไว้ 200 ตารางวา ในตำบลหนองสาหร่าย เตี่ยจึงคิดทำลานตากข้าวโพดของตัวเอง แบบว่ามีที่ดินแค่ 200 ตารางวาก็ขอทำร้านตากข้าวโพดแค่ 200 ตารางวา ไม่มีเป็นหลายหลายไร่เหมือนคนอื่นเขา ด้วยความที่เตี่ยมีฝีมือในด้านช่างอยู่แล้วเตี่ยจึง ลงมือทำด้วยตัวเองโดยสร้างแบบประหยัดที่สุด คือ ใช้ไม้ไผ่เป็นโครงสำหรับยึดปูนซีเมนต์แล้วจ้างช่างเพียงไม่กี่คนลงมือทำโกดัง และลานตากข้าวโพด และสิ่งที่เตี่ยมีความชำนานมากที่สุด คือ การทำแท้งค์เก็บน้ำทุกๆ ในทุก ๆ ที่เตี่ยเคยอยู่ ไม่ว่าจะเป็น บ้านที่ปากช่อง หรือ บ้านปากน้ำโพ ทุกที่ที่เตี่ยอยู่เตี่ยจะต้องทำแท๊งค์น้ำขึ้นมาเองด้วยฝีมือของตัวเองทั้งสิ้น ซึ่งแท็งก์น้ำที่ลานตากข้าวโพด และโกดังนี้ปัจจุบันผ่านมากกว่า 30 ปี ยังใช้การได้ดีไม่แตกไม่รั่วไม่ซึมจึงยังใช้เก็บน้ำมาจนถึงทุกวันนี้

      ที่ 200 ตารางวา นี้จึงเป็นลานตากข้าวโพดและโกดังเก็บข้าวโพดตั้งแต่พ.ศ. 2525 เป็นต้นมาโดยตัวโกดังสูง5ถึง 6 เมตรเป็นเสาปูน 1 เมตรจากนั้นเป็นไม้เนื้อแข็งทั้งหมด ปัจจุบันยังเป็นโครงสร้างที่แข็งแรงดีอยู่ทายาทจึงแค่บูรณะบางอย่างเท่านั้นเตี่ยใช้โกดังที่ตัวเองสร้างอยู่ได้ไม่กี่ปีเตี่ยก็เสียชีวิตลงในวันที่ 2 มีนาคม 2534 โกดังนี้จึงตกเป็นมรดกแก่ลูกชายคนสุดท้องตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อ่านต่อ
บ้านโกดังเตี่ย X THE GRAZIE
บริการ

บริการของเรา

จองทริปเที่ยว

บ้านโกดังเตี่ย

     ขอเชิญทุกท่านมาร่วมสัมผัสบรรยากาศอันเงียบสงบและเป็นธรรมชาติที่บ้านโกดังเตี่ย บ้านพักตากอากาศที่ผสมผสานเสน่ห์ของอดีตกับความสะดวกสบายในปัจจุบัน ท่ามกลางบรรยากาศเย็นสบายใกล้เขาใหญ่ บ้านโกดังเตี่ยยังคงรักษาโครงสร้างไม้เนื้อแข็งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และหายากไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ สถานที่นี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการพักผ่อนสังสรรค์กับครอบครัวและเพื่อนฝูง ให้คุณได้ดื่มด่ำกับความงดงามของธรรมชาติ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของการพักผ่อน

     บ้านโกดังเตี่ยไม่ใช่แค่เพียงบ้านพักธรรมดา แต่เป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความทรงจำและเรื่องราวที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น การมาเยือนที่นี่จึงเป็นการเปิดประสบการณ์ที่แตกต่าง ให้คุณได้ย้อนเวลากลับไปสู่ยุคสมัยที่เรียบง่ายและสงบสุข มาร่วมสร้างความทรงจำใหม่ ๆ กับเรา แล้วคุณจะหลงรักในเสน่ห์ของบ้านโกดังเตี่ย ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน

จองทริปของคุณ

รับส่วนลด 50% สำหรับการผจญภัยครั้งแรกของคุณกับ บ้านโกดังเตี่ย รับข้อเสนอพิเศษเพิ่มเติมได้ที่นี่